วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม 2564 เวลา 13.00-16.00 น. สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมสู่การทำงาน หัวข้อ “สอนไทยไม่ตกเทรนด์”: แนวทางการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ ผ่านโปรแกรม Zoom Conference โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์ ดร.ยิ่งยศ กันจีนะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาเป็นวิทยากรบรรยายในกิจกรรมดังกล่าว โดยครั้งนี้เปิดให้นักศึกษาเข้ารับฟังได้ทุกชั้นปี ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีกิจกรรมเตรียมความพร้อมสู่การทำงาน “การพัฒนาบุคลิกภาพและการสร้างภาพลักษณ์ในการทำงาน” ที่จัดขึ้นเพื่อนักศึกษาปีที่ 3 และ 4
รายงานโดย ทัศนียา แก้ววังชัย
กิจกรรมเริ่มเวลา 13.10 น. ในช่วงแรกก่อนการบรรยาย วิทยากรให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแนะนำตัวด้วยชื่อ-นามสกุล และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น การพูดคุย หรือการสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติ ด้วยทางหลักสูตรฯ มีการเปิดสอนภาษาในอาเซียนให้กับนักศึกษาทั้งหมด 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาเวียดนาม และบาฮาซาอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีภาษาเสรีอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาสเปน เป็นต้น ซึ่งแต่ละคนก็มีประสบการณ์ที่หลากหลายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น นางสาววิชญาณี อินทะเสย์ ศิษย์เก่า SEAS รุ่นที่ 1 ที่ได้มีโอกาสรับทุนไปศึกษาต่อในประเทศอินโดนีเซีย โดยในระหว่างนี้เจ้าตัวก็ได้รับสอนพิเศษภาษาไทยให้กับชาวอินโดนีเซีย เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานไปด้วย
เมื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันเรียบร้อยแล้ว วิทยากรเปิดหัวข้อการบรรยายด้วยการแนะนำภาษาต่างประเทศที่ใช้ในโลกนี้ คนเราจะมีความสนใจในการเรียนภาษาที่สอง หรือที่สามนั้นล้วนเกิดจากความสนใจทั้งสิ้น ดังนั้นการจะสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะพวกเขาต่างก็เกิดความสนใจในประเทศไทย จึงอยากจะเรียนรู้ภาษาไทย โดยในเบื้องต้นผู้สอนอาจจะเริ่มจากคำถามง่าย ๆ อย่าง “คุณรู้จักอะไรเกี่ยวกับประเทศไทยบ้าง?” เช่น ดารา อาหาร ละคร และเทศกาล เป็นต้น และก่อนที่จะจบการบรรยายช่วงแรก วิทยาการได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมถามคำถาม ซึ่งก็มีหนึ่งคำถามที่ต้องการคำแนะนำจากวิทยากร คือ “อยากให้อาจารย์สอนเทคนิคในการอ่านออกเสียงให้หน่อยค่ะ”
เวลา 15.00 น. จากคำถามที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สอบถามไว้ในช่วงต้น วิทยากรจึงนำสู่เทคนิคต่อมาที่ผู้สอนภาษาไทยหลายคนรู้สึกว่ายากมาก คือ การสอนอ่านออกเสียง พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ เนื่องจากแต่ละประเทศจะมีข้อจำกัด หรือข้อแตกต่างกันในแต่ละภาษา ดังนั้นวิทยากรจึงแนะนำให้ใช้สัทอักษรสากล (International Phonetic Alphabet: IPA) หรือสัญกรณ์มาตรฐานสำหรับการแทนเสียงพูดในทุกภาษา หลังจากนั้นวิทยากรจึงสอนให้รู้จักกับการใช้สัทอักษร และได้ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทำแบบฝึกหัด โดยการเขียนข้อความที่ให้มาด้วยสัทอักษรให้ถูกต้อง เป็นเวลา 15 นาที
ในช่วงท้ายของกิจกรรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถทำแบบฝึกหัดได้เพียงคนละเล็กน้อย วิทยาจึงได้แนะนำเครื่องมือที่จะช่วยให้การเขียนสัทอักษรง่ายขึ้น หากต้องนำไปทำสื่อการสอนให้แก่ผู้เรียนภาษาไทยชาวต่างชาติต่อไป นั่นก็คือเว็บไซต์ https://ipa.typeit.org/full/ เรียกได้ว่า มีประโยชน์ต่อผู้สอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติมือใหม่อย่างเรามาก
เมื่อเสร็จสิ้นการบรรยาย วิทยากรเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ถาม-ตอบอีกครั้ง รวมไปถึงแลกเปลี่ยนความคิดกันว่าวันนี้ได้เทคนิคหรือวิธีการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติอะไรนำกลับไปบ้าง และหลังจากจบกิจกรรมมีการสุ่มแจกกระเป๋าสุด Limited โดยวิทยากร เพื่อเป็นของรางวัลให้กับนักศึกษาที่เข้ารับฟังกิจกรรมการบรรยายในครั้งนี้ ได้ผู้โชคดีจากทั้งหมด 2 คน ได้แก่ นางสาวณีรัญชญา สายทองทิพย์ และนางสาวปฎิมากรณ์ มาดี
สำหรับกิจกรรมครั้งถัดไปที่จะจัดขึ้นส่งท้ายในเดือนสิงหาคม จะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาทักษะ Photoshop สำหรับมือใหม่ขั้นพื้นฐาน” เพื่อเพิ่มพูนทักษะการสร้างสรรค์ผลงานสื่อด้วยโปรแกรม Adobe Photoshop ในระดับเบื้องต้น พร้อมทั้งเรียนรู้การปรับใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในโปรแกรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนและการทำงาน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 28 สิงหาคมนี้เวลา 13.00-15.00 น. โดยวิทยากร คุณอฤณ ชาติศิริ บัณฑิตวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผ่านทางออนไลน์ Google Meet
เปิดให้นักศึกษาทุกชั้นปีเข้าร่วมกิจกรรม และนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับหน่วยกิจกรรม และลุ้นรับกระเป๋าผ้าสุด Limited จากการสุ่มหารายชื่อผู้โชคดีจำนวน 3 รางวัล งานนี้ห้ามพลาด !